คุกคุมขังนักโทษแห่งตะรุเตา
- jutafai
- Oct 11, 2015
- 1 min read

ตึกแดง ... มีลักษณะเป็นรูปทรงครึ่งวงกลมความสูงประมาณ ๑ เมตร ยาว ๒ เมตร เจาะรูเล็กๆให้อากาศไหลผ่านเพื่อเป็นการลงโทษ ในคุกตะรุเตา ที่ผ่านมามีการขังนักโทษไว้ในตึกแดงเพียง ๑ ราย และเสียชีวิตในตึกแดงนั่นเอง
ในอดีตมีเรื่องราวไม่น้อยที่เล่าขานกันมาเกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบาก ความแร้นเค้นของนักโทษและผู้คุมจนต้องผันชีวิตตนเองไปเป็นโจรสลัดปล้นฆ่าเหยื่ออย่างทารุณโหดร้าย ตำนานของเกาะตะรุเตาซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็น "ทัณฑสถาน" หรือ "นิคมฝึกอาชีพ" สำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์ของประเทศไทยยังคงเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่จนถึงทุกวันนี้
"ทัณฑสถานเกาะตะรุเตา" เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2479 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงสี่ปี ซึ่งมีพระยาพหลพลหยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เกาะตะรุเตาได้ถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ฝึกอาชีพและกักกันสำหรับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์และนักโทษการเมือง ด้วยเหตุผลง่ายๆคือมีภูมิประเทศยากแก่การหลบหนี เพราะเป็นเกาะใหญ่อยู่กลางทะเลลึก รอบๆเกาะก็เต็มไปด้วยฉลาม แถมในคลองก็มีจรเข้ชุกชุม คลื่นลมมรสุมก็รุนแรง ไม่มีเรือผ่านไปมา ม้่นใจได้ว่าจะไม่มีการแหกหักหลบหนี นอกจากจะมีผู้คุมดูแลแล้ว ยังมีฉลามและจรเข้ช่วยควบคุมไว้อีกชั้นหนึ่ง กรมราชทัณฑ์ในสมัยนั้นซึ่งได้รับคำสั่งจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ทำการสำรวจ จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งนิคมฝึกอาชีพสำหรับนักโทษขึ้น ณ สถานที่นี้
หลวงพิธานฑัณฑทัย พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี ได้รับมอบหมายให้ไปทำการบุกเบิก ปลูกสร้างอาคารที่ทำการ ที่พักผู้คุม เรือนนอนผู้ต้องขัง และโรงฝึกอาชีพ ใช้เวลา 2 ปี จึงสำเร็จ นักโทษชุดแรกที่ได้มีโอกาสมาพักผ่อนที่เกาะตะรุเตา เป็นพวกคดีอุกฉกรรจ์ จำนวน 500 คน ในปี พ.ศ.2481 และมีชุดหลังก็ติดตามมาเรื่อยๆ จนมียอดผู้ต้องขังสูงถึง 3,000 คน ภายในปีนั้น
コメント